หลายๆ คนอาจคิดว่าโลกยุคปัจจุบันมีสิ่งมีชีวิตหลงสำรวจอยู่น้อยเต็มที นั่นเป็นความเข้าใจผิด เพราะยังมีสิ่งมีชีวิตที่มนุษย์ยังไม่เคยเห็นอีกมากมาย โดยเฉพาะใต้ท้องทะเลลึก
พื้นผิวโลกเป็นมหาสมุทรถึง 70% และมีความลึกโดยเฉลี่ย 4 กิโลเมตร เมื่อเปรียบเทียบกับที่อื่นๆ แล้วใต้ท้องทะเลลึกเป็นบริเวณที่หนาวเย็นมืดทึบและมีออกซิเจนน้อย สภาพแวดล้อมจึงเอื้อต่อการมีชีวิตน้อยมาก แต่ที่นี่กลับมีสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายและมีรูปลักษณ์แปลกๆ
ท้องทะเลลึกมีสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ไปจนถึงขนาดเล็ก ตั้งแต่วาฬสเปิร์ม ปลาหมึกยักษ์ อาร์ชิทิวทิส ขนาด 13 เมตร ปลาหมึกยักษ์คอลอสซอล ขนาด 15 เมตร ปลาฉลามสลีปเปอร์ ไปจนกระทั่งถึง ปะการัง ปลาหมึกขนาดเล็ก หนอน และแบคทีเรีย
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์นานาชาติกว่า 70 ประเทศ กำลังสำรวจสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรตั้งแต่ขั้วโลกเหนือถึงขั้วโลกใต้ เพื่อทำฐานข้อมูลตามโครงการ "Census of Marine Life" (CoML) ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2000
การสำรวจสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรครั้งใหญ่นี้จะใช้ระยะเวลา 10 ปี เพื่อประเมินและอธิบายความหลากหลาย การกระจายและความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรทั้งในอดีตปัจจุบันและอนาคต
ก้นทะเลลึกมีความลึกลับหลายอย่างที่มนุษย์เพิ่งจะรู้ ไม่น่าเชื่อว่าจะมีสัตว์ทะเลอาศัยอยู่ในบริเวณปล่องน้ำพุร้อน (Hydrothermal vent) (ส่วนใหญ่อยู่ในระดับความลึก 2,100 เมตร) ซึ่งอุดมไปด้วยแร่เหล็กและกำมะถัน ทว่าที่นี่เป็นที่อยู่ของสัตว์หลายชนิด เช่น แบคทีเรีย หอยกาบ ปลารูปร่างประหลาด และหนอนซึ่งมีลำตัวยาวมากกว่า 2 เมตร
สัตว์ขนาดเล็กที่นี่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์หวังว่าจะผลิตยาจากสัตว์เล็กๆ เหล่านี้รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ ด้วย
ก้นทะเลลึกยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปะการัง เมื่อไม่นานมานี้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบปะการังในเขตหนาว ซึ่งอยู่ลึกถึง 6,000 เมตร และมีอุณหภูมิของน้ำเพียง 2 องศาเซลเซียส เท่านั้น ซึ่งต่างจากปะการังในเขตร้อนซึ่งอยู่ในน้ำตื้น และปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้พบปะการังน้ำลึกตั้งแต่ไอร์แลนด์ไปจนกระทั่งถึงนิวซีแลนด์ แต่น่าเสียดายมันกำลังถูกทำลายโดยเรือประมงน้ำลึก
เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2006 ได้มีการประชุมนานาชาติ "ชีววิทยาท้องทะเลลึก ครั้งที่ 11" ที่เมืองเซาธ์แธมตัน สหราชอาณาจักร การประชุมครั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ได้นำเสนอภาพสัตว์ใต้ทะเลลึกหลายชนิด ซึ่งสัตว์บางชนิดน่าตื่นตาตื่นใจมาก ดังเช่น
หนอนแอนเนลิด ภาพ เดเนียล เดสบรูเยอร์ |
หนอนทะเล (Annelid Worm)
หนอนทะเลเป็นสัตว์ที่อยู่ในไฟลัม แอนเนลิดา (Phylum Annelida) ไฟลัมนี้มีหนอนมากถึง 15,000 สปีซีส์ ที่รู้จักกันดีคือ ไส้เดือนและปลิง ในภาพคือหนอนทะเลหนึ่งใน 120 สปีซีส์ ในจีนัส เนออิส (Nereis) คลาสโพลีคีตา (Polychaeta) นักวิทยาศาสตร์พบมันในบริเวณน้ำพุร้อนก้นทะเล ลักษณะเด่นของหนอนชนิดนี้คือรูปร่างหน้าตาที่ประหลาดและดูน่าเกลียดน่ากลัว
ปลาหมึกลูกหมู ภาพ อลัน คินเนียร์ |
ปลาหมึกลูกหมู (Piglet Squid)
ปลาหมึกลูกหมูมีชื่อสามัญว่า Deep Sea Cranchid Squid เป็นปลาหมึกขนาดเล็กอยู่ในจีนัสเฮลิคอเครนเชีย (Helicocranchia) คลาส เซฟาโลโพดา (Cephalopoda) ไฟลัมมอลลัสกา (Phylum Mollusca)
นักวิทยาศาสตร์คาดว่า มีปลาหมึกลูกหมูในจีนัสเฮลิคอเครนเชีย ประมาณ 14 สปีซีส์ แต่ปัจจุบันรู้จักกันเพียง 3 สปีซีส์ ในภาพเป็น สปีซีส์ pfefferi
ปลาหมึกลูกหมูอาศัยอยู่ใต้ทะลึกถึง 4,000 เมตร ลักษณะเด่นของมันคือมีรูปร่างหน้าตาคล้ายการ์ตูน หนวดตั้งตรงบนหัวคล้ายกับผมซึ่งต่างจากปลาหมึกชนิดอื่นๆ และมีครีบคล้ายใบพัดที่ปลายลำตัว
ปลาหมึกดัมโบ ภาพเดวิด เชล |
ปลาหมึกดัมโบ (Dumbo Octopus)
ปลาหมึกดับโบเป็นปลาหมึกสปีซีส์ สโตทูธีส ไซเทนซิส Stauroteuthis syrte หนึ่งในสองสปี
ซีส์ของจีนีส สโตทูทีส (stauroteuth) จีนัสเดียวในแฟมิลี สโตทูไทได (Stauroteuthidae) คลาสเซฟาโลโพดา ไฟลัมมอสลัสกา
มันมีรูปร่างคล้ายระฆัง ลักษณะเด่นคือ มีตุ่มหรือหน่อจำนวนมากอยู่ที่หนวดหรือแขน ซึ่งผลิตแสงสว่างได้ และมีหูคล้ายครีบอยู่เหนือดวงตา
ปลาหมึกแวมไพร์ ภาพ ไมเคิล แรนดอลล์ |
ปลาหมึกแวมไพร์ (Cirrate Octopod)
ปลาหมึกแวมไพร์เป็นปลาหมึกสปีซีส์ อินเฟอร์นาลิส (Vampyroteuthis infernalis ) ซึ่งหมายถึง "ปลาหมึกแวมไพร์จากนรก" อยู่ในจีนัสแวมไพร์ทูทีส (Vampyroteuthis) แฟมีลี แวมไพร์โรทูไทได (Vampyroteuthidae) คลาสเซฟาโลโพดา ไฟลัมมอสลัสกา
ปลาหมึกชนิดนี้อาศัยอยู่ในระดับน้ำลึก 300-3,000 เมตร ลักษณะเด่นของมันคือ มีดวงตาสีน้ำเงิน ผิวหนังสีน้ำตาลแดง มีพังผืดเหมือนกระโปรงรอบๆ ขา และมีหูคล้ายครีบเหนือดวงตาเช่นเดียวกับปลาหมึกดัมโบ นอกจากนั้นมันยังมีอวัยวะผลิตแสงสีน้ำเงิน ซึ่งทำให้ศัตรูมองเห็นมันได้ยาก
ไซโฟโนฟอร์ ภาพเควิน ราสคอฟฟ์ |
ไซโฟโนฟอร์ (Siphonophore)
ไซโฟโนฟอร์เป็นสัตว์ทะเลในไฟลัมไนเดเรีย (cnidaria) คลาส
ไฮโดรชัว (Hydrozoa) มันเป็นญาติกับแมงกะพรุน ลักษณะเด่นของมันคือไม่ใช่สัตว์ทะเลที่อยู่เดี่ยวๆ แต่มีโคโลนี (colony) หรือมีสัตว์ทะเลอื่นๆ ในสปีซีส์เดียวกันมาอาศัยรวมกันอยู่ด้วย และยังพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เช่น ปกป้องโคโลนีจากการโจมตีของศัตรู และรวมกันโจมตีเหยื่อที่มีขนาดใหญ่กว่า ตัวอย่างของการอยู่รวมกันเป็นโคโลนีคือ มดและผึ้ง
ในภาพเป็นไซโนฟอร์สปีซีส์หนึ่งในมหาสมุทรอาร์กติค ซึ่งมีโคโลนีอยู่ที่ลำตัวซึ่งเป็นก้านสีเหลือง และโคโลนีเหล่านี้สามารถเปล่งแสงสีแดงได้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่า การเปล่งแสงของมันก็เพื่อล่อเหยื่อเช่น ปลาให้เข้ามาเพื่อจับกินเป็นอาหาร
ไซโฟโนฟอร์ที่รู้จักกันดีที่สุดคือ "Portuguese man - of - war "
ซึ่งมักเข้าใจผิดว่าเป็นแมงกะพรุน
น้ำพุร้อนก้นทะเลลึก |
การสำรวจใต้ทะเลลึกเริ่มขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930 โดยยานดำน้ำ ยูเอส โอเชียนโอกราฟเฟอรส์ ซึ่งสามารถดำน้ำได้ลึก 1,000 เมตร ต่อมาในทศวรรษที่ 1960 เครื่องดำน้ำลึกของสวิตเซอร์แลนด์สามารถดำได้ลึกถึง 11 กิโลเมตร ที่มาริอานัส เทรนช์ (Marianas trench ) ก้นทะเลที่ลึกที่สุดในโลกนอกชายฝั่งฟิลิปปินส์
ทศวรรษที่ 1990 ญี่ปุ่นพัฒนายานดำน้ำรุ่นใหม่เป็นหุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำที่ควบคุมด้วยรีโมทคอนโทรล หุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ "ไคโกะ" ซึ่งสำรวจก้นทะเลที่มาริอานัส เทรนช์ เมื่อปี 1995 แต่สูญหายไป ไคโกะจะถูกทดแทนด้วย "อัลวิน" ในปี 2009 ซึ่งจะสามารถสำรวจก้นทะเลได้ครอบคลุมถึง 99%
นักวิทยาศาสตร์คาดว่ายานสำรวจใต้น้ำในอนาคตอันใกล้นี้จะเคลื่อนที่เหมือนเครื่องบินเจ็ท บางชนิดจะเคลื่อนที่ได้เหมือนปลา และนักวิทยาศาสตร์จะสามารถสร้างเครือข่ายหุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำรวมทั้งห้องแล็บอัตโนมัติที่ก้นทะเลลึกได้ด้วย ซึ่งจะทำให้มนุษย์สามารถศึกษาสิ่งมีชีวิตในทะเลลึกได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่หลายเท่าตัว
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์สามารถเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตบริเวณก้นทะเลได้เพียง 1% เท่านั้น
ปลาหมึกลูกหมูมีครีบคล้ายใบพัด |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น