ชาวพื้นเมืองในอเมริกากลางเผ่าต่าง ๆ หรือที่เรียกกันว่าพวกอินเดียนแดงได้สร้างอารยธรรมที่รุ่งเรืองไว้มากมาย ก่อนที่พวกล่าอาณานิคมชาวสเปนจะเข้ามาปกครอง แต่ละชนเผ่าต่างก็สร้างชุมชนและวัฒนธรรมของตัวเองจนเกิดเป็นอารยธรรมขึ้นมาเป็นเวลากว่าพันปี มีความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรม คณิตศาสตร์และดาราศาสตร์เป็นอย่างดี มีการสร้างวิหารและพีระมิดจำนวนมากมาย กระจัดกระจายทั่วไปในตอนกลางของทวีปอเมริกาเหนือ ในประเทศเม็กซิโก กัวเตมาลา เบลิซ ฮอนดูรัส
วัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ของชาวอินเดียนแดงในเม็กซิโกสามารถแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มมายา (Maya) ที่อาศัยอยู่ในคาบสมุทรยูคาทาน กับกลุ่มแอซเท็ก (Aztec) ที่อาศัยทางตอนกลางของประเทศเม็กซิโกแถบเมืองหลวง กรุงเม็กซิโกซิตี้
ห่างจากกรุงเม็กซิโกซิตี้ เพียง 40 กว่ากิโลเมตร จะพบเมืองโบราณเรียกว่า เทโอทิวาคาน (Teotihuacan) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและรุ่งเรืองที่สุดในทวีปอเมริกา ครอบคลุมเนื้อที่กว่า 83 ตารางกิโลเมตร ยุคที่รุ่งเรืองสูงสุดอยู่ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 2-5 คาดว่ามีประชากรถึงอาศัยอยู่ถึง 250,000 คน มีพีระมิดที่สูงใหญ่และสำคัญสองแห่ง เรียกว่าพีระมิดแห่งพระอาทิตย์ (Pyramid of the Sun) และพีระมิดแห่งพระจันทร์ (Pyramid of the Moon) ที่ยังปรากฏจนถึงปัจจุบัน
"Pyramid of the Moon"
"Pyramid of the Moon"
ตรงกลางของทั้งสองพีระมิดเชื่อมด้วยถนนขนาดกว้าง เรียกว่า Avenue of the Dead ชื่อเหล่านี้เป็นชื่อที่คนรุ่นหลังเรียกขึ้นมาเนื่องจากอารยธรรมได้สาบสูญไปนานแล้ว เมื่อชนเผ่าแอซเต็ก (Aztec) ซึ่งอพยพมาจากทางตอนเหนือของประเทศมาตั้งรกรากแถบนี้ ได้ค้นพบเมืองโบราณที่ร้างผู้คนเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง จึงเรียกเมืองนี้ว่า เทโอทิวาคาน(Teotihuacan) ซึ่งแปลว่าเมืองที่พระเจ้าประทานให้
จากรูป พีระมิดขนาดใหญ่ทางซ้ายมือของ Avenue of the Dead ที่เห็นไกล ๆ คือพีระมิดแห่งพระอาทิตย์
ตามความเชื่อของชนเผ่าโบราณ ทุก 50 ปีจะสร้างพีระมิดหลังใหม่ครอบคลุมพีระมิดหลังเดิมซึ่งถูกฝังอยู่ภายใน เพราะเชื่อว่าจะเข้าใกล้ท้องฟ้าและสวรรค์มากขึ้น รูปที่เห็นนี้คือส่วนของพีระมิดชั้นในที่ถูกคลุมด้วยพีระมิดชั้นนอก เมื่อพีระมิดชั้นนอกผุพังลง จึงได้ปรากฏให้เห็นถึงลวดลายวิจิตรพิสดารภายในที่ถูกปกคลุมซ่อนตัวเป็นเวลากว่าพันปี จะเห็นลวดลายหัวสัตว์ที่ประดับที่ฐานของพีระมิดชั้นในอย่างสวยงาม
ข้อมูลเกี่ยวกับเมืองเทโอทิวาคานยังไม่เป็นที่ทราบอย่างแน่นอนในปัจจุบัน มีปริศนามากมาย เช่น ใครคือชนเผ่าที่สร้างเมืองนี้ขึ้น พีระมิดและอาคารทั้งหลายสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ใด และทำไมอยู่ ๆ เมืองนี้ถึงได้กลายเป็นเมืองร้างเป็นเวลากว่าหลายร้อยปี จนมีเผ่าพันธุ์ใหม่เข้ามาอาศัยในภายหลัง
เมืองโบราณอีกแห่งทางเหนือของกรุงเม็กซิโกซิตี้ไปประมาณ 90 กิโลเมตร มีชื่อว่าทูล่า (Tula) เคยเป็นชุมชนของชาวพื้นเมืองอีกกลุ่ม เรียกว่าพวกโทลเทค (Toltecs) มีวิหารสำคัญ ตอนบนจะเห็นตุ๊กตานักรบ 4 ตัว ซึ่งจริง ๆ มีหน้าที่เป็นเสาค้ำยันหลังคาวิหาร ปัจจุบันส่วนหลังคาได้ผุพังไปหมดแล้วจึงเหลือเพียงตุ๊กตานักรบยืนเด่นเป็นสง่า ตัวที่อยู่ทางซ้ายสุด ได้ถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่กรุงเม็กซิโกซิตี้ ที่เห็นเป็นรูปจำลองที่สร้างขึ้นทีหลัง
ชิเชน อิทซ่า (Chichen Itza) เป็นอารยธรรมที่รุ่งเรืองที่สุดของพวกมายา ตั้งอยู่บนคาบสมุทรยูคาทาน ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ มีความเจริญสูงสุดทางด้านคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ปัจจุบัน นอกจากจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น มรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก้ แล้ว ยังได้รับการโหวตให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ อีกด้วย
ศูนย์กลางของชิเชน อิทซ่า คือพีระมิดขนาดใหญ่ที่เรียกว่า เอล คาสติลโล่ (El Castillo) หรือพีระมิดของเทพคูคุลคาน (Pyramid of Kukulkan) เป็นพีระมิดแบบขั้น มี 9 ขั้น มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่ละด้านมีบันไดขึ้นไปถึงยอด ด้านละ 91 ขั้น รวม 4 ด้าน มีบันได 364 ขั้น เมื่อนับชั้นบทสุดด้วยจะรวมเป็น 365 ขั้น ซึ่งเท่ากับจำนวนวันในหนึ่งปี
สิ่งที่น่าทึ่งที่สุด คือในวันที่ 21 มีนาคม และ 23 กันยายน ซึ่งวันดังกล่าวเรียกว่าวัน equinox เป็นวันที่พระทิตย์ทางทิศตะวันออกพอดี และตกทางทิศตะวันตกพอดี และมีกลางวันกับกลางคืนเท่ากัน ในสองวันนี้ของทุกปีจะเกิดปรากฏการณ์สำคัญคือ ตอนบ่าย ๆ แสงอาทิตย์จะตกกระทบกับสันของพีระมิด เกิดเป็นเงาที่บันไดด้านทิศเหนือเป็นรูปตัวงู เสมือนหนึ่งว่าเทพเจ้างูค่อย ๆ เลื้อยลงมาจากยอดพีระมิดซึ่งเปรียบเหมือนสวรรค์เพื่อมาเยี่ยมเยียนโลกมนุษย์ เมื่อแสงกระทบเต็มที่จะเห็นเป็นรูปงูที่มีหัวงูอยู่ที่ฐานบันได ส่วนตัวงูจะทาบไปตามด้านข้างของบันได เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก การจะสร้างปรากฏการณ์เช่นนี้ได้ ย่อมแสดงให้เห็นถึงความรู้ความสามารถด้านคณิตศาสตร์ และสถาปัตยกรรมเป็นอย่างดีเยี่ยม
ในรูปนี้ นักท่องเที่ยวมาชุมนุมเพื่อดูปรากฏการณ์นี้ เห็นตัวงู (ที่เป็นเงา) ตรงบันไดไหมครับ
ในรูปนี้ นักท่องเที่ยวมาชุมนุมเพื่อดูปรากฏการณ์นี้ เห็นตัวงู (ที่เป็นเงา) ตรงบันไดไหมครับ
สัญลักษณ์สำคัญที่พบเห็นหลายแห่งคือรูปปั้นคนนั่ง เอกเขนก ที่เรียกว่า ชักมูล (Chac Mool) รูปปั้นนี้หมายถึงอะไรหรือแทนใคร ยังเป็นปริศนาอยู่ในปัจจุบันนี้
เมืองโบราณอูชมาล (Uxmal) ของพวกอินเดียนแดงเผ่ามายา (Maya) ที่อาศัยอยู่บนคาบสมุทรยูคาทาน (Yucatan) มีกลุ่มอาคาร 15 กลุ่ม กระจายอยู่ในระยะความยาว 2 กิโลเมตร อาคารเหล่านี้จะแบ่งเป็นห้อง ๆ สำหรับพระและชนชั้นปกครองอาศัยอยู่ภายใน
พีระมิดขนาดใหญ่แห่งอูชมาล มีชื่อเรียกว่าพีระมิดของโหราจารย์ (Pyramid of soothsayers) มีฐานเป็นรูปวงรี แทนที่จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมเหมือนพีระมิดที่พบเห็นที่อื่น ๆ
อูชมาลเป็นหนึ่งในมรดกโลกของยูเนสโก้ด้วยเมื่อปี ค.ศ.1996 (หรือ พ.ศ.2539)
นี่ก็อีกที่หนึ่งในเม็กซิโก ชื่อ El Tajin เป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโก้อีกแห่งหนึ่ง
นี่ก็ พาเลงเก้ (Palenque) อีกหนึ่งมรดกโลก มีเยอะมากประเทศนี้
นอกจากในเม็กซิโกแล้ว อารยธรรมโบราณของพวกมายายังคลุมไปถึงประเทศกัวเตมาลา เบลิซ และฮอนดูรัส โดยเฉพาะที่ทิคาล (Tikal) ในกัวเตมาลา ซึ่งเป็นโบราณสถานของพวกมายาที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
ที่นี่มีพีระมิดแบบขั้นถึง 6 แห่ง มีอาคารอื่น ๆ อีกมากมายนับร้อยพันและยังรอการขุดสำรวจอยู่อีกเป็นจำนวนมาก อารยธรรมที่ทิคาลเก่าแก่พอ ๆ กับที่เทโอทิวาคานเลยทีเดียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น