thairath
ตุตันคามุน ฟาโรห์อียิปต์ผู้โด่งดังเมื่อสิ้นพระชนม์มาแล้วกว่าสามพันปี พระองค์เป็นตำนานอันยิ่งใหญ่ แห่งการค้นพบทางโบราณคดีในโลกปัจจุบัน สุสานอันเต็มไปด้วยเครื่องทองของมีค่าอลังการ มลังเมลืองของพระองค์ ในหุบผากษัตริย์ นั้น เป็นแรงบันดาลใจสูงสุดของการขุดค้นทางโบราณคดี ทั้งเป็นตัวจุดประกายความหลงใหลใฝ่ฝันในอารยธรรมอียิปต์ โบราณแก่คนทั้งโลก
ตุตันคามุนเป็นฟาโรห์ในราชวงศ์ที่ 18 ยุคราชธานีใหม่ของอียิปต์ ครองบัลลังก์ ประมาณระหว่างปีที่ 1336-1327 ก่อน ค.ศ. เข้าใจว่าพระองค์เป็นโอรสของอเคนาเตน ฟาโรห์ผู้ปฏิวัติศาสนาจากการนับถือเทพหลายองค์ โดยมี อามุน-เร เป็นเทพสูงสุดนั้น มานับถือเทพองค์เดียวคืออาเตน ผู้มีสัญลักษณ์ เป็นวงกลมดวงอาทิตย์ที่มีรัศมีเป็นสายยาว
ตุตันคามุนมิใช่โอรสที่เกิดจากเนเฟอร์ติตี ราชินีโฉมงามของอเคนาเตน เพราะราชินีผู้นี้ ดูจะมีแต่พระธิดาเท่านั้น พระมารดาของตุตันคามุนเป็นมเหสีรองที่ชื่อ คียา พระนามเดิมของตุตันคามุนคือ ตุตันคาเตน (แปลว่า รูปอันมีชีวิตแห่งเทพอาเตน) เนื่องจากประสูติในสมัยที่พระบิดา หันมานับถือเทพอาเตนแล้ว
ในวัยเยาว์ ตุตันคามุนทรงใช้ชีวิตที่เมืองอเคตาเตน (เทล เออลอมาร์นา ปัจจุบัน) เมืองหลวงใหม่ที่พระบิดาสร้างอุทิศแด่ เทพองค์ใหม่ ตุตันคาเตนขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ ยังทรงพระเยาว์มาก คือในราว 9-10 ชันษา และต่อมาก็อภิเษกกับอังเคเซนปาอาเตน พระเชษฐภคินีร่วมพระบิดา ผู้เป็นพระธิดาของเนเฟอร์ติตี ไม่นานนักตุตันคาเตนก็ทรงย้ายเมืองหลวง กลับมายังเมมฟิส เมืองหลวงดั้งเดิม เปลี่ยนศาสนากลับมานับถือเทพอามุน-เร และเทพอื่นๆ ดังเดิม รวมทั้งเปลี่ยนพระนามของพระองค์เองและของพระมเหสีเป็น ตุตันคามุน และอังเคเซนปาอามุนตามลำดับ
เพื่อยืนยันการนับถือเทพอามุน ตุตันคามุนครองราชย์เพียงไม่กี่ปี ก็สิ้นพระชนม์ด้วยวัยเพียง 19-20 ชันษา พระศพถูกทำเป็นมัมมี่แล้วเก็บไว้ในสุสาน ณ หุบผากษัตริย์พร้อมข้าวของที่พระองค์ จะนำไปใช้ได้ในโลกหลังความตาย และของสักการะบูชาอื่นๆที่แล้วล้วนไปด้วยทองคำ รวมแล้วกว่า 3,000 ชิ้น
ในต้นทศวรรษ 1900 อันเป็นยุคที่มีการขุดค้นทางโบราณคดีมากที่สุดในอียิปต์ แต่เมื่อมีการค้นพบสุสานในหุบผากษัตริย์ของหลายๆ บุคคลที่อยู่ในยุคเดียวกัน มีโถคาโนปิค (โถบรรจุอวัยวะภายในที่นำออกมาระหว่างการทำศพเป็นมัมมี่) ของพระนางคียา พระมารดาของตุตันคามุน แท่นบูชาของราชินีติยี และของอื่นๆ ที่จารึกพระนามของอเมนโฮเทปที่ 3 บ้าง สเมนกาเรบ้าง ทั้งมีถ้วยเคลือบสีใบหนึ่งที่จารึกพระนามตุตันคามุน และนั่นก็คือครั้งแรกที่นักโบราณคดีรู้จักฟาโรห์พระนามนี้
อย่างไรก็ตาม ต่อๆมาก็มีผู้พบโบราณ วัตถุที่เกี่ยวข้องกับตุตันคามุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น แผ่นทองจารึกพระนามที่แผ่นหนึ่งมีภาพตุตันคามุนกำลังทรงธนู ซึ่งเออร์เนสท์ แฮโรลด์ โจนส์ พบในห้องห้องหนึ่งที่ตัดลึกเข้าไปในหน้าผาแห่งหนึ่งในปี 1908
ปี 1922 ณ บริเวณสุดท้ายที่ยังไม่เคยมีการขุดค้นใกล้ๆ สุสานของฟาโรห์ราเมซิสที่ 6 และในวันที่ 4 พฤศจิกายน 1922 นั่นเอง ขณะเด็กที่คอยแจกน้ำให้คนงาน โกยทรายกอบขึ้นมาตั้งเหยือกนั่นเอง เขาก็พบขั้นบันไดที่ทอดลงไปในชั้นหิน อันเป็นลักษณะเฉพาะของสุสานในราชวงศ์ที่ 18 คาร์เตอร์โกยดินหินออกไปจากขั้นบันได จนถึงประตูชั้นนอกที่ยังคงมีตราผนึกอยู่ อันหมายความว่าสุสานยังไม่เคยถูกเปิดเลย นับแต่การฝังพระศพเมื่อหลายพันปีก่อน
ลอร์ดคาร์นาวอนบินด่วนจากอังกฤษมาร่วม ในการเปิดสุสาน แล้วคาร์เตอร์ก็สามารถเปิดประตูเข้าสู่ สุสานฟาโรห์ตุตันคามุน ที่ตระการตาไปด้วยข้าวของอันแล้ว ล้วนไปด้วยทองคำสุมแน่น โดยห้องชั้นในสุดมีเรือนทองคำ 4 ชั้นคลุมหีบศิลาที่บรรจุโลงทองคำอีก 3 ชั้นกว่าจะถึงมัมมี่พระศพฟาโรห์ที่มีหน้ากากทองคำ ฝังพลอยคลุมพระพักตร์อยู่อีกชั้นหนึ่ง
คาร์เตอร์ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทางกายวิภาค มาตรวจมัมมี่ตุตันคามุนในปี 1925 ผลการตรวจพระศพได้ข้อสรุปว่า ตุตันคามุน สิ้นพระชนม์ระหว่างพระชนมายุ 18-22 ชันษา พระองค์สูงประมาณ 5 ฟุต 6 นิ้ว จากนั้นคาร์เตอร์ก็พันผ้าให้มัมมี่เสียใหม่ก่อนเชิญเสด็จกลับลงโลง
มัมมี่ตุตันคามุนถูกนำออกมาตรวจวิเคราะห์ อีก 2 ครั้งในปี 1968 และ 1978 ซึ่งผลที่พบเพิ่มเติมก็คือ เศษกระดูกแตก 2 ชิ้นในกะโหลกพระเศียร และพบว่ากระดูกพระอุระรวมทั้งซี่โครงด้านหน้าทั้งหมดหายไป ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่าตุตันคามุนอาจสิ้นพระชนม์ด้วยการถูกตีเข้าที่ด้านหลังพระเศียร หรืออาจเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงอันทำให้มีบาดแผลฉกรรจ์ทางด้านหน้าพระอุระ ช่างทำมัมมี่จึงเอากระดูกตรงนั้นออกไปเสีย
มัมมี่ฟาโรห์ผู้โด่งดังถูกตรวจสอบครั้งล่าสุดเมื่อ 5 มกราคม 2005 นี้เอง โดยนําเครื่อง CT SCANNER ใส่รถบรรทุกไปจอดหน้าหุบผากษัตริย์ แล้วเชิญเสด็จตุตันคามุนออกมานอกสุสานอันนับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3,300 ปี เพื่อเข้าเครื่องสแกนบนรถ (ครั้งแรก คาร์เตอร์เชิญเสด็จออกมาพร้อมโลงเพื่อผึ่งแดด โดยหวังว่าจะทําให้นํ้ามันยางละลาย)
ภาพจากการสแกนที่ได้มาถูกนํามาศึกษาวิเคราะห์ และสรุปผล โดยผู้เชี่ยวชาญ สารพัดแขนง ยืนยันว่าพระองค์สิ้นพระชนม์ เมื่อพระชนมายุ 19 ชันษา แต่ไม่พบร่องรอยถูกทําร้ายที่พระเศียร เศษกระดูกแตกที่พบนั้น ปรากฏว่า เกิดขึ้นหลังสิ้นพระชนม์ แต่กลับพบรอยแตกในกระดูกพระเพลาซ้าย ซึ่งน่าจะเกิดก่อนสิ้นพระชนม์ เพราะมีนํ้ายาอาบศพซึมลึกอยู่ในนั้น แม้บาดแผลนี้จะไม่ถึงตาย แต่การติดเชื้อก็อาจทําให้สิ้นพระชนม์ได้
ส่วนซี่โครงด้านหน้าพระอุระที่หายไปนั้น นักวิชาการยังขบปัญหากันไม่แตก สรุปได้แต่ เพียงว่าไม่น่าจะมีบาดแผลแตกหักตรงนั้น และไม่มีริ้วรอยอื่นใดอย่างที่ควรจะเป็น จึงอาจเป็นไปได้ว่ากระดูกส่วนนี้หายไปสมัยคาร์เตอร์
|
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น