ตำราของวอยนิช กับอักขระลึกลับ ที่สุดในโลก
โลกเบี้ยวๆใบนี้มีภาษามากมายกว่า 3,000 ภาษา และมีตัวเขียนใช้ถึงกว่า 100 ภาษา ซึ่งแน่นอนว่า ภาษาโบราณบางภาษายังไม่สามารถถอดความได้ การที่เรายังไม่สามารถถอดความอักขระโบราณเหล่านี้ได้ ก็ทำให้ความลับของอารยธรรมเจ้าของอักขระนั้นยังอยู่ในเงามืดของปริศนาตามไป ด้วย การถอดรหัสภาษาโบราณก็ไม่ได้ทำกันง่ายๆเสียด้วยสิครับ องค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในการเข้าใจภาษาโบราณที่ตายไปแล้วก็คือ เราต้องมีภาษาที่ถอดความได้แล้วมาเปรียบเทียบ แต่ถ้าไม่มีหลักฐานความสัมพันธ์กับภาษาใดๆเลย โอกาสที่จะถอดความภาษานั้นๆก็ดูจะริบหรี่เต็มที
หนึ่งในอักขระลึกลับ ที่ยังถอดความไม่ได้ในยุคใหม่ช่วง 500 กว่าปีที่ผ่านมา ก็มีให้พบเห็นอยู่เช่นกัน ซึ่งก็คือตัวอักษรในตำราพิสดารที่จะนำมาเสนอในครั้งนี้นี่เอง นักวิชาการขนานนามเอกสารที่บันทึกข้อความปริศนาชุดนี้ว่า “ตำราของวอยนิช” (Voynich Manuscript)
ตำรา ของวอยนิชนี้ เป็นเอกสารที่แปลกประหลาดที่สุดชุดหนึ่งที่โลกรู้จัก ด้วยความที่มันเป็นหนังสือเขียนด้วยลายมือที่ยังไม่มีใครอ่านออก ที่ว่าอ่านไม่ออกไม่ใช่ว่าลายมือเจ้าของเอกสารชุ่ยจนอ่านไม่ออกนะครับ แต่เป็นเพราะว่าภาษาที่เขียนนั้นไม่ สามารถเทียบได้กับภาษาใดๆในโลกเลยต่างหากเล่า
เอกสารชุดนี้มีขนาด ประมาณ 6 คูณ 9 นิ้ว บรรจุจำนวนหน้ามากมายถึง 246 หน้า บ้างก็ว่าเดิมน่าจะเคยมีมากกว่า 262 หน้า บ้างก็ว่าอาจจะมากกว่า 270 หน้า แต่ที่พอจะสำรวจคร่าวๆได้จากตำราฉบับนี้ก็คือ มีหน้าที่เป็นภาพประกอบคำบรรยายอยู่ประมาณ 212 หน้า และหน้าที่มีแต่คำบรรยายล้วนๆอีก 33 หน้า รวมเป็น 245 หน้า ส่วนหน้าสุดท้ายหรือหน้าที่ 246 นั้น นักวิชาการหลายท่านลงความเห็นตรงกันว่ามันน่าจะเขียนบางสิ่งบางอย่างที่ เปรียบเสมือนกุญแจ (Key) ในการไขรหัสลับของภาษาพิสดารในเล่มนี้เอาไว้
ตัว เล่มเป็นกระดาษที่ทำจากหนังลูกวัว ภายในบันทึกข้อความภาษาประหลาดด้วยลายมือที่เชื่อว่าน่าจะเขียนด้วยปากกาขน นก พร้อมภาพประกอบสีสันสดใสสวยงามเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจากรูปวาดในตำราเล่มนี้ และหลักฐานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ก็พอจะทำให้ นักวิชาการส่วนหนึ่งพอจะระบุได้ว่าเอกสารชุดนี้ น่าจะเก่าแก่อย่างดีก็เพียงแค่ 500 ถึง 600 ปีเท่านั้น
เรื่องของ ความเป็นมานั้น สมควรย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1912 ก่อน เมื่อเจ้าของชื่อ “ตำราของวอยนิช” นามวิลฟริด มิเชล วอยนิช (Wilfrid Michael Voynich) ซึ่งเป็นพ่อค้าหนังสือชาวโปแลนด์-อเมริกัน ได้ค้นพบเอกสารเจ้าปัญหานี้โดยบังเอิญจากกองเอกสารโบราณจำนวนมากในวิลลา มอน-ดรากอน (Villa Mondragone) เมืองฟรัสกาตี (Frascati) ใกล้กับกรุงโรม
วอย นิชทำการถ่ายสำเนาของเอกสารชุดนี้ส่งให้ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณ รวมทั้งผู้มีความสามารถและชำนาญในด้านของการถอดรหัสลับร่วมไขข้อความภาษา ปริศนาในตำราฉบับนี้ แต่ไม่มีใครเลยที่สามารถระบุได้ว่าภาษาที่ใช้นั้นเป็นภาษาอะไร
ย้อน กลับไปเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1568 เราพอจะมีหลักฐานที่กล่าวว่า กษัตริย์รูดอล์ฟที่ 2 (Rudolph II) แห่งโบฮีเมีย หนึ่งในกษัตริย์ที่ไม่ค่อยปกติของยุโรปในช่วงนั้น เคยครอบครองมันมาก่อน มีเรื่องเล่าว่ากษัตริย์รูดอล์ฟทรงซื้อตำราภาษาประหลาดนี้มาจากใครคนหนึ่ง ซึ่งไม่มีบันทึกเอาไว้ ในราคาประมาณ 300 ดูคัตทองคำ (Gold Ducats) ซึ่งประมาณเป็นเงินได้ 14,000 ดอลลาร์ ในช่วงนั้น แต่ตำราบางเล่มก็กล่าวว่า ราคาที่พระองค์ซื้อมานั้นคือประมาณ 600 ดูคัตทองคำ หรือถ้าตีเป็นเงินในช่วงนี้ก็คือประมาณ 60,000 ดอลลาร์เลยทีเดียวครับ
ที่ น่าสนใจก็คือในตำราพิสดารเล่มนี้มีจดหมายฉบับหนึ่งแนบมาด้วย เป็นจดหมายที่สื่อความว่า ผู้ที่ริเริ่มเขียนข้อความด้วยภาษาประหลาดลงไปในตำรานี้ก็คือ นักปรัชญาชาวอังกฤษนามว่า โรเจอร์ เบคอน (Roger Bacon) ที่มีบทบาทอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 บุคคลอีกท่านหนึ่งที่มีเอี่ยวด้วยก็คือ ชาวอังกฤษที่มีความสามารถหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักสำรวจ โหราจารย์และยังเป็นผู้มีความสามารถทางเวทมนตร์ อีกด้วย เขาคือจอห์น ดี (John Dee) สาเหตุที่จอห์น ดี เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องของต้นฉบับลึกลับนี้ก็เพราะว่าเขาได้เข้ามาบรรยาย ที่กรุงปราก (Prague) กับเบคอน ในช่วงเวลา 2 ปีก่อนเรื่องตำราพิศวงฉบับนี้จะเป็นที่รู้จัก
มี ผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมตรวจ สอบตำราของวอยนิชฉบับนี้เสนอแนวคิดว่า มันอาจจะเป็นอักขระที่มีการเข้ารหัสลับเอาไว้ และต้องอาศัยการถอดรหัสออก แต่ก็เป็นไปได้สูงเช่นกันที่อักขระเหล่านี้จะเขียนด้วยภาษาใหม่ที่ไม่ได้ เข้ารหัส
หลังจากกษัตริย์รูดอล์ฟสิ้นพระชนม์ ตำราปริศนาเล่มนี้ก็เปลี่ยนมือ จนสุดท้ายประมาณปี ค.ศ.1662 ก็ได้ตกมาเป็นสมบัติของมาร์ซี (Marci) อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกรุงปราก มาร์ซีได้ส่งจดหมายไปหาอธานาซิอุส คีร์เชอร์ (Athanasius Kircher) ในปี ค.ศ.1666 เพื่อให้เขาช่วยตีความหมาย ทำให้หลังจากนั้นต้นฉบับนี้จึงอยู่ในความดูแลของสถาบันที่คีร์เชอร์ทำงาน อยู่ จนกระทั่งมาถึงประมาณช่วงทศวรรษที่ 1870 ตำราของวอยนิชที่ถูกลืมก็ได้ย้ายมารวมกับกองเอกสารโบราณจำนวนมากในวิลลา มอนดรากอน ซึ่งก็คือสถานที่ที่วอยนิชมาพบตำรานี้เมื่อปี ค.ศ.1912 นั่นเอง ปัจจุบันตำราของวอยนิชฉบับนี้ก็ได้รับการเก็บรักษาเอาไว้ในห้องสมุดตำราหา ยากเบเน็ค (Beinecke Rare Book Library) ของมหาวิทยาลัยเยล
จากหลัก ฐานล่าสุดเมื่อปี ค.ศ.2009 ทีมนักวิชาการตรวจสอบตำรานี้ด้วยวิธีวัดการสลายตัวของคาร์บอนกัมมันตรังสีก็ ทำให้ทราบว่า ต้นฉบับนี้น่าจะเป็นของแท้แน่นอน และมีอายุอยู่ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1404 จนถึง ค.ศ.1438 ครับ
แม้ว่า จะยังไม่มีคนที่สามารถเข้าใจเนื้อหาด้านในอย่างถ่องแท้ได้ แต่จากการตรวจสอบภาพวาดต่างๆ ในตำราเล่มนี้ก็พอจะทำให้สรุปเรื่องราวที่น่าจะได้รับการบันทึกไว้ในหนังสือ เล่มนี้ได้ว่า เนื้อหาถูกแบ่งออกเป็น 5 ส่วน ส่วนแรกเป็นส่วนที่มีเนื้อหาเยอะที่สุด มีจำนวน 130 หน้า จากภาพวาดพอจะเดาได้ว่าเนื้อความของส่วนนี้น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับ พืชพันธุ์ พร้อมคำบรรยายภาพประกอบ ทำให้นักวิชาการส่วนหนึ่งเรียกส่วนแรกของหนังสือนี้ว่า “ส่วนพฤกษศาสตร์”
ส่วนที่สองจำนวน 26 หน้า จากภาพวาดประกอบดูคล้ายคลึงกับภาพของดวงดาวและจักรวาลวิทยา รวมทั้งโหราศาสตร์ จึงทำให้ส่วนนี้ถูกเรียกว่า “ส่วนดาราศาสตร์”
ส่วนที่สามประกอบไปด้วยหน้าเพียง 4 หน้า แต่มีภาพประกอบถึง 28 ภาพ ที่เกี่ยวข้องกับกายวิภาคศาสตร์ เช่น ภาพผู้หญิงเปลือยและท่อบางชนิดที่ไม่ทราบความหมายแน่ชัด จึงได้รับชื่อเรียกว่า “ส่วนชีววิทยา”
ส่วนที่สี่จำนวน 34 หน้า นักวิชาการตั้งชื่อให้ว่าเป็น “ส่วนเภสัชศาสตร์”
ส่วนสุดท้ายประกอบไปด้วยตัวอักษรภาษาประหลาดล้วนๆ ไม่มีภาพประกอบ จำนวน 24 หน้า เขียนด้วยย่อหน้าสั้นๆและด้านหน้าย่อหน้าประดับด้วยภาพดาวหรือดอกไม้ ขนาดเล็ก บางตำรากล่าวว่าเป็น “ส่วนตำรับอาหาร” ซึ่งบ้างก็คิดว่ามันอาจจะเป็นปฏิทินที่ใช้ในการพยากรณ์ เหตุการณ์บางอย่าง เช่น น้ำขึ้นน้ำลง หรือการเคลื่อนที่ของดวงดาวก็เป็นได้ และในหน้าที่ 24 หรือหน้าสุดท้ายของส่วนนี้ก็คือ ส่วนของ “กุญแจ” ที่อาจจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการถอดรหัสภาษาพิศวงในตำราเล่มนี้ก็เป็นได้
ตลอด เกือบร้อยปีที่ผ่านมา หลังจากที่ตำราของวอยนิชได้รับการเปิดเผยต่อชาวโลกที่กระหายใคร่รู้ ก็มีผู้พยายามถอดความอักขระปริศนาในตำรานี้กันหลายต่อหลายท่าน ท่านแรกที่ดูเหมือนว่าจะตีความข้อความในตำราออกมานำเสนอก็คือวิลเลียม นิวโบลด์ (William Newbold) ในปี ค.ศ. 1919 เขากล่าวว่า จารึกเหล่านี้ได้รับการบันทึกโดยโรเจอร์ เบคอน ที่ทำการส่องกล้องดูดาวออกไปยังท้องฟ้า และได้มองเห็นกลุ่มกาแล็กซีแอนโดรเมดา (Andromeda) รวมทั้งบันทึกเรื่องราวของดาวหางเอาไว้ด้วย แต่แน่นอนว่าแนวคิดนี้ยังไม่มีน้ำหนักมากพอ ทำให้เป็นอันตกไป
ต่อมา ในปี ค.ศ. 1944 ฮิวจ์ โอนีลล์ (Hugh O’Neill) นักพฤกษศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงก็ได้ทำการวิเคราะห์ภาพพันธุ์พืชที่ปรากฏในตำรา ของวอยนิช และได้สรุปว่าพืชเหล่านี้น่าจะเป็นพืชของทางทวีปอเมริกา เช่น ดอกทานตะวันและพริกแดงบางประเภท นั่นหมายความว่า อายุของตำราฉบับนี้น่าจะอยู่ในช่วงหลังจากปี ค.ศ. 1493 ที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) ได้นำเมล็ดทานตะวันมาปลูกยังยุโรปเป็นครั้งแรก แต่ข้อสรุปนี้ก็ยังมีนักวิชาการอีกหลายท่านที่ไม่เห็นด้วย
ตอน นี้สิ่งที่ค่อนข้างแน่นอนที่สุดเมื่อกล่าวถึงอักขระลายมือในตำราของวอยนิชก็ คือ มันมีความแตกต่างกัน 2 รูปแบบอย่างเห็นได้ชัด โดยได้ขนานนามว่าภาษาเอและภาษาบี นั่นหมายความว่าต้นฉบับตำรานี้ไม่ได้เขียนโดยคนคนเดียวอย่างค่อนข้างแน่นอน หรือถ้าจะเขียนโดยคนคนเดียวกัน ก็ต้องเป็นช่วงเวลาที่ห่างกันพอ สมควรเลยทีเดียวครับ
ตอนนี้หลากหลายแนวคิดออกมาเสนอหน้าที่ที่แท้ จริงให้กับตำราของวอยนิช บางท่านเสนอว่า มันอาจจะเป็นของที่ตั้งใจทำปลอมขึ้นมาในสมัยนั้น โดยเขียนด้วยภาษาชวนพิศวง ประกอบภาพวาดพิสดารที่ไม่ได้ต้องการสื่อความหมายใดๆ เพียงแค่ให้ดูแปลกประหลาดและสะดุดตากษัตริย์รูดอล์ฟที่ 2 ที่ชื่นชอบในรหัสลับ จนพระองค์หลงกลซื้อไปด้วยจำนวนเงินมหาศาลเท่านั้น แต่นักวิชาการด้านภาษาส่วนหนึ่งก็ออก มาโต้ในเรื่องว่าถ้ามันจะเป็นภาษาที่เขียนขึ้นมาแบบไม่ตั้งใจให้มีความ หมาย แต่มันก็สอดคล้องกับกฎทางสถิติของภาษาอย่างน่าประหลาด เช่น ในเรื่องของความถี่ในคำต่างๆของเนื้อหา มีความสอดคล้องกับกฎทางภาษาเป็นอย่างดี สิ่งนี้ค่อนข้างทำให้แนวคิดเรื่องตั้งใจหลอกลวงตกไป เพราะคงจะเป็นไปได้ยากที่ใครสักคนจะคิดภาษาแปลกประหลาดพิสดารออกมา แต่เนื้อความและการใช้ภาษากลับสอดคล้องกับกฎสถิติเชิงภาษาได้อย่างลงตัวเช่น นี้
สุดท้าย ตำราของวอยนิชก็ยังเก็บงำความลับดำมืดของมันต่อไป และเราคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ตำราของวอยนิชฉบับนี้เป็นหนังสือที่ลึกลับที่สุดในโลก!
สุดท้าย ตำราของวอยนิชก็ยังเก็บงำความลับดำมืดของมันต่อไป และเราคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ตำราของวอยนิชฉบับนี้เป็นหนังสือที่ลึกลับที่สุดในโลก!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น