THE NATURAL OF REVENGE: พีระมิดในอเมริกา

วันเสาร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2554

พีระมิดในอเมริกา


ชาวพื้นเมืองในอเมริกากลางเผ่าต่าง ๆ หรือที่เรียกกันว่าพวกอินเดียนแดงได้สร้างอารยธรรมที่รุ่งเรืองไว้มากมาย  ก่อนที่พวกล่าอาณานิคมชาวสเปนจะเข้ามาปกครอง  แต่ละชนเผ่าต่างก็สร้างชุมชนและวัฒนธรรมของตัวเองจนเกิดเป็นอารยธรรมขึ้นมาเป็นเวลากว่าพันปี  มีความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรม คณิตศาสตร์และดาราศาสตร์เป็นอย่างดี  มีการสร้างวิหารและพีระมิดจำนวนมากมาย กระจัดกระจายทั่วไปในตอนกลางของทวีปอเมริกาเหนือ ในประเทศเม็กซิโก กัวเตมาลา เบลิซ ฮอนดูรัส
วัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ของชาวอินเดียนแดงในเม็กซิโกสามารถแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มมายา (Maya) ที่อาศัยอยู่ในคาบสมุทรยูคาทาน กับกลุ่มแอซเท็ก (Aztec) ที่อาศัยทางตอนกลางของประเทศเม็กซิโกแถบเมืองหลวง กรุงเม็กซิโกซิตี้  

ห่างจากกรุงเม็กซิโกซิตี้ เพียง 40 กว่ากิโลเมตร จะพบเมืองโบราณเรียกว่า เทโอทิวาคาน (Teotihuacan)  ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและรุ่งเรืองที่สุดในทวีปอเมริกา ครอบคลุมเนื้อที่กว่า 83 ตารางกิโลเมตร  ยุคที่รุ่งเรืองสูงสุดอยู่ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 2-5  คาดว่ามีประชากรถึงอาศัยอยู่ถึง 250,000 คน  มีพีระมิดที่สูงใหญ่และสำคัญสองแห่ง เรียกว่าพีระมิดแห่งพระอาทิตย์ (Pyramid of the Sun) และพีระมิดแห่งพระจันทร์ (Pyramid of the Moon) ที่ยังปรากฏจนถึงปัจจุบัน

"Pyramid of the Moon"

ตรงกลางของทั้งสองพีระมิดเชื่อมด้วยถนนขนาดกว้าง เรียกว่า Avenue of the Dead   ชื่อเหล่านี้เป็นชื่อที่คนรุ่นหลังเรียกขึ้นมาเนื่องจากอารยธรรมได้สาบสูญไปนานแล้ว  เมื่อชนเผ่าแอซเต็ก (Aztec) ซึ่งอพยพมาจากทางตอนเหนือของประเทศมาตั้งรกรากแถบนี้ ได้ค้นพบเมืองโบราณที่ร้างผู้คนเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง จึงเรียกเมืองนี้ว่า เทโอทิวาคาน(Teotihuacan)  ซึ่งแปลว่าเมืองที่พระเจ้าประทานให้
จากรูป พีระมิดขนาดใหญ่ทางซ้ายมือของ Avenue of the Dead ที่เห็นไกล ๆ คือพีระมิดแห่งพระอาทิตย์

ตามความเชื่อของชนเผ่าโบราณ ทุก 50 ปีจะสร้างพีระมิดหลังใหม่ครอบคลุมพีระมิดหลังเดิมซึ่งถูกฝังอยู่ภายใน เพราะเชื่อว่าจะเข้าใกล้ท้องฟ้าและสวรรค์มากขึ้น  รูปที่เห็นนี้คือส่วนของพีระมิดชั้นในที่ถูกคลุมด้วยพีระมิดชั้นนอก เมื่อพีระมิดชั้นนอกผุพังลง จึงได้ปรากฏให้เห็นถึงลวดลายวิจิตรพิสดารภายในที่ถูกปกคลุมซ่อนตัวเป็นเวลากว่าพันปี จะเห็นลวดลายหัวสัตว์ที่ประดับที่ฐานของพีระมิดชั้นในอย่างสวยงาม

ข้อมูลเกี่ยวกับเมืองเทโอทิวาคานยังไม่เป็นที่ทราบอย่างแน่นอนในปัจจุบัน  มีปริศนามากมาย เช่น ใครคือชนเผ่าที่สร้างเมืองนี้ขึ้น พีระมิดและอาคารทั้งหลายสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ใด และทำไมอยู่ ๆ เมืองนี้ถึงได้กลายเป็นเมืองร้างเป็นเวลากว่าหลายร้อยปี จนมีเผ่าพันธุ์ใหม่เข้ามาอาศัยในภายหลัง 

เมืองโบราณอีกแห่งทางเหนือของกรุงเม็กซิโกซิตี้ไปประมาณ 90 กิโลเมตร มีชื่อว่าทูล่า (Tula)  เคยเป็นชุมชนของชาวพื้นเมืองอีกกลุ่ม เรียกว่าพวกโทลเทค (Toltecs)  มีวิหารสำคัญ   ตอนบนจะเห็นตุ๊กตานักรบ 4 ตัว ซึ่งจริง ๆ มีหน้าที่เป็นเสาค้ำยันหลังคาวิหาร  ปัจจุบันส่วนหลังคาได้ผุพังไปหมดแล้วจึงเหลือเพียงตุ๊กตานักรบยืนเด่นเป็นสง่า   ตัวที่อยู่ทางซ้ายสุด ได้ถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่กรุงเม็กซิโกซิตี้   ที่เห็นเป็นรูปจำลองที่สร้างขึ้นทีหลัง

ชิเชน อิทซ่า (Chichen Itza)  เป็นอารยธรรมที่รุ่งเรืองที่สุดของพวกมายา  ตั้งอยู่บนคาบสมุทรยูคาทาน ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ  มีความเจริญสูงสุดทางด้านคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์    ปัจจุบัน นอกจากจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น มรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก้ แล้ว  ยังได้รับการโหวตให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ อีกด้วย  

ศูนย์กลางของชิเชน อิทซ่า คือพีระมิดขนาดใหญ่ที่เรียกว่า เอล คาสติลโล่ (El Castillo) หรือพีระมิดของเทพคูคุลคาน (Pyramid of Kukulkan) เป็นพีระมิดแบบขั้น มี 9 ขั้น   มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส   แต่ละด้านมีบันไดขึ้นไปถึงยอด ด้านละ 91 ขั้น   รวม 4 ด้าน มีบันได 364 ขั้น  เมื่อนับชั้นบทสุดด้วยจะรวมเป็น 365 ขั้น ซึ่งเท่ากับจำนวนวันในหนึ่งปี

สิ่งที่น่าทึ่งที่สุด คือในวันที่ 21 มีนาคม และ 23 กันยายน ซึ่งวันดังกล่าวเรียกว่าวัน equinox   เป็นวันที่พระทิตย์ทางทิศตะวันออกพอดี และตกทางทิศตะวันตกพอดี  และมีกลางวันกับกลางคืนเท่ากัน    ในสองวันนี้ของทุกปีจะเกิดปรากฏการณ์สำคัญคือ ตอนบ่าย ๆ แสงอาทิตย์จะตกกระทบกับสันของพีระมิด  เกิดเป็นเงาที่บันไดด้านทิศเหนือเป็นรูปตัวงู   เสมือนหนึ่งว่าเทพเจ้างูค่อย ๆ เลื้อยลงมาจากยอดพีระมิดซึ่งเปรียบเหมือนสวรรค์เพื่อมาเยี่ยมเยียนโลกมนุษย์   เมื่อแสงกระทบเต็มที่จะเห็นเป็นรูปงูที่มีหัวงูอยู่ที่ฐานบันได  ส่วนตัวงูจะทาบไปตามด้านข้างของบันได  เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก   การจะสร้างปรากฏการณ์เช่นนี้ได้ ย่อมแสดงให้เห็นถึงความรู้ความสามารถด้านคณิตศาสตร์ และสถาปัตยกรรมเป็นอย่างดีเยี่ยม

ในรูปนี้ นักท่องเที่ยวมาชุมนุมเพื่อดูปรากฏการณ์นี้  เห็นตัวงู (ที่เป็นเงา) ตรงบันไดไหมครับ   

สัญลักษณ์สำคัญที่พบเห็นหลายแห่งคือรูปปั้นคนนั่ง เอกเขนก ที่เรียกว่า ชักมูล (Chac Mool)  รูปปั้นนี้หมายถึงอะไรหรือแทนใคร ยังเป็นปริศนาอยู่ในปัจจุบันนี้

เมืองโบราณอูชมาล (Uxmal)  ของพวกอินเดียนแดงเผ่ามายา (Maya)  ที่อาศัยอยู่บนคาบสมุทรยูคาทาน (Yucatan)  มีกลุ่มอาคาร 15 กลุ่ม กระจายอยู่ในระยะความยาว 2 กิโลเมตร  อาคารเหล่านี้จะแบ่งเป็นห้อง ๆ สำหรับพระและชนชั้นปกครองอาศัยอยู่ภายใน

พีระมิดขนาดใหญ่แห่งอูชมาล มีชื่อเรียกว่าพีระมิดของโหราจารย์ (Pyramid of soothsayers)  มีฐานเป็นรูปวงรี  แทนที่จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมเหมือนพีระมิดที่พบเห็นที่อื่น ๆ

อูชมาลเป็นหนึ่งในมรดกโลกของยูเนสโก้ด้วยเมื่อปี ค.ศ.1996 (หรือ พ.ศ.2539)

นี่ก็อีกที่หนึ่งในเม็กซิโก ชื่อ El Tajin เป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโก้อีกแห่งหนึ่ง

นี่ก็ พาเลงเก้ (Palenque) อีกหนึ่งมรดกโลก มีเยอะมากประเทศนี้

นอกจากในเม็กซิโกแล้ว อารยธรรมโบราณของพวกมายายังคลุมไปถึงประเทศกัวเตมาลา  เบลิซ และฮอนดูรัส   โดยเฉพาะที่ทิคาล (Tikal)  ในกัวเตมาลา  ซึ่งเป็นโบราณสถานของพวกมายาที่มีขนาดใหญ่ที่สุด

ที่นี่มีพีระมิดแบบขั้นถึง 6 แห่ง  มีอาคารอื่น ๆ อีกมากมายนับร้อยพันและยังรอการขุดสำรวจอยู่อีกเป็นจำนวนมาก  อารยธรรมที่ทิคาลเก่าแก่พอ ๆ กับที่เทโอทิวาคานเลยทีเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น