THE NATURAL OF REVENGE: เรื่องเศร้าของเหล่า "อัจฉริยะ"

วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เรื่องเศร้าของเหล่า "อัจฉริยะ"


เรื่องเศร้าของเหล่า "อัจฉริยะ"

เรื่องราวข่าวครึกโครมเกี่ยวกับ นพ.ประกิตเผ่า ทมทิตชงค์ เป็นอีกเรื่องที่คนไทยจำนวนมากกำลังติดตาม...ว่ามันยังไงกันแน่ ? กำลังสนใจว่าหมอหนุ่มที่เป็นคนเก่ง ฉลาด สามารถพลิกวิกฤติของธุรกิจครอบครัวคือสถาบันกวดวิชาแอพพลายฟิสิกส์ที่มีปัญหาให้ฟื้นคืนกลับมาได้ในเวลาไม่กี่ปี จนกลายเป็นโรงเรียนกวดวิชาฟิสิกส์อันดับต้น ๆ ของไทยในเวลานี้ สรุปแล้วหมอหนุ่มชื่อดังคนนี้ “มีปัญหาทางจิต” แน่หรือ ? เพราะอะไร ?


 

กรณีของหมอประกิตเผ่าก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าจะสรุปอย่างไร ?

แต่หากใครกำลังคิดเรื่อง “เก่งแล้วเพี้ยน” เรื่องนี้มีตัวอย่าง..... 
ทั้งนี้ มีบุคคลสำคัญของโลกหลายคนเคยมีอาการ “อัจฉริยะเพี้ยน” และหากใครเป็นแฟนภาพยนตร์ต่างประเทศอาจจะคุ้นกับภาพยนตร์เรื่อง “A Beautiful Mind” ที่ดัดแปลงจากเรื่องจริงของนักคณิตศาสตร์อัจฉริยะชื่อ ศาสตราจารย์ จอห์น แนช ซึ่งเป็น “เจ้าของรางวัลโนเบล สาขา เศรษฐศาสตร์” ในปี 2537 
หนังเรื่องนี้บอกเล่าถึงความเป็นมาของ จอห์น แนช ตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนมหาวิทยาลัยซึ่งผลการเรียนโดดเด่นเหนือเพื่อนร่วมรุ่น แต่ด้วยบุคลิกมั่นใจในตัวเองสูง ทำให้ “เก่งกาจแต่ขาดเพื่อน” ถึงขนาดมีประโยคคำพูดที่ว่าเขา “เป็นคนที่น่าจะเข้ากับจำนวนเต็มได้ดีกว่าจำนวนคน” และต่อมาชีวิตของเขาต้องประสบปัญหาเนื่องจากเริ่ม “ป่วยเป็นโรคจิตแบบไม่รู้ตัว”
จนทำให้คนรอบข้างเริ่มหวาดกลัว และทำให้อาชีพการงานต้องสะดุดลง อย่างไรก็ตาม แต่หลังจากได้กำลังใจจากเพื่อน และโดยเฉพาะภรรยา แม้ จอห์น แนช จะใช้เวลารักษาอาการอยู่นานแต่ที่สุดก็กลับมาทำงานได้ตามปกติ จนได้รับการยอมรับจากแวดวงอาจารย์ จากการคิดค้นทฤษฎีใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย 

นั่นคือเรื่องราวในหนังที่มีการแต่งเติมขึ้นบ้างเพื่อให้มีอรรถรส ซึ่ง จอห์น แนช ในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวนี้รับบทโดยดาราชื่อดัง รัสเซล โครว์ โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ปี 2545

สำหรับชีวิตจริงของ จอห์น แนช เขาเกิดในปี พ.ศ.2471 มีพ่อเป็นวิศวกรไฟฟ้า แม่เป็นครูสอนภาษาละตินและอังกฤษ ว่ากันว่าเขาสามารถอ่านเอ็นไซโคลพีเดียได้ตั้งแต่เด็ก ในสมัยเรียนมัธยมขณะที่เด็กคนอื่นจะอ่านหนังสือเรียนตามวัย แต่เขากลับชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ที่คนระดับศาสตราจารย์ชอบอ่านกัน

ความเป็นอัจฉริยะของเขาฉายแววออกมาเรื่อย ๆ และเมื่ออายุเพียง 20 ปี ขณะศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยปรินสตัน เขาก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นเลิศทางด้านคณิตศาสตร์ และในวัย 22 ปีเขาก็ได้รับปริญญาเอกทางคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยดังกล่าว โดยวิทยานิพนธ์ของ จอห์น แนช ความหนา 27 หน้า ซึ่งเป็นการศึกษาทฤษฎี Game Theory มีนักเศรษฐศาสตร์นำไปวิเคราะห์ใช้ จนมีส่วนสำคัญที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลในภายหลัง

จอห์น แนช ในวัยเพียง 23 ปี ได้เป็นอาจารย์สอนหนังสือที่ MIT ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งรวมอัจฉริยะของโลกที่โด่งดังหลายคน อาทิ พอล แซม มวลสัน, โรเบิร์ต ซอโลว์ ซึ่งเป็นเพื่อนในจำนวนไม่กี่คนที่เขามีอยู่ เนื่องจากด้วยบุคลิก ชอบเก็บตัว กล้าคิด กล้าแหวกขนบธรรมเนียมเดิม และมั่นใจในตัวเองสูง ทำให้เขา “ไม่ค่อยมีเพื่อน” 

อนาคตของเขาสะดุดลงในวัย 31 ปี เมื่อมีอาการป่วยทางจิต ซึม เศร้า เห็นภาพหลอน ได้ยินเสียงคนคุยกันในหัวดัง ๆ เป็นอาการที่เรียกว่า Paranoid Schizophrenia เพ้อคลั่ง และเกิดความคิดแปลก ๆ เช่น คิดว่า ตนเป็นสายลับมีหน้าที่ถอดรหัสลับจากสื่อต่าง ๆ หรือกระทั่งคิดว่ามีฝ่ายตรง ข้ามจ้องเอาชีวิตเขาอยู่ อาการกำเริบหนักจนทำให้เขาสูญเสียสามัญสำนึก และ ถูก จับเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา จิตแพทย์ระบุว่าเขาเป็นโรค “จิตเสื่อม” 
เขาทำงานต่อไม่ได้ ต้องลาออกจาก MIT และอยู่ภายใต้การดูแลของจิตแพทย์นานถึง 25 ปี ก่อนจะมาได้รับรางวัลโนเบลในปี 2537 ซึ่งขณะรับรางวัลอาการดังกล่าวก็ยังไม่หายขาด แต่เขาก็สามารถควบคุมอาการได้มากขึ้นกว่าเดิม ถือเป็นตัวอย่างของอัจฉริยะเพี้ยน ที่สามารถต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างน่าชื่นชม


“ในวงการจิตวิทยาก็มีการศึกษาจากคนกลุ่มนี้ ว่ามีโอกาสมากกว่าคนปกติทั่วไป ที่สำคัญในวงวิชาการก็ยังมีการศึกษาพบว่า คนเก่ง คนมีการศึกษาสูง มักมีปัญหาเรื่องอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนปกติทั่วไป เนื่องจากคนกลุ่มนี้อาจต้องเผชิญกับความเครียดมากกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ และมีโอกาสที่จะมีปัญหาสภาพจิตใจที่มาจากความเครียด” ...เป็นการระบุของ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกรมสุขภาพจิต

โฆษกกรมสุขภาพจิตยังบอกอีกว่า... ในอดีตก็มีคนสำคัญหลายคนที่มีปัญหาทางจิต เช่น วินเซนต์ แวนโกะห์ ศิลปินภาพเขียนชื่อดัง, เซอร์ ไอแซค นิวตัน เจ้าของทฤษฎีเรื่องแรงโน้มถ่วง, เท็ด เทอร์เนอร์ เจ้าพ่อธุรกิจสื่อดังอย่างไทม์และซีเอ็นเอ็น อย่างไรก็ตาม คนเหล่านี้เมื่อได้รับการรักษาก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

“ไม่จำเป็นเสมอไปว่าคนที่มีอาการทางจิตจะต้องแต่งตัวมอมแมมเหมือนที่เรียกกันว่าบ้า แต่ก็สามารถเกิดได้กับคนแต่งตัวดี ๆ มีการศึกษา สูง ๆ ได้เช่นกัน แต่คนมักตัดสินว่าคนนี้เพี้ยน-คนนี้ไม่เพี้ยนจากภายนอก จนมองข้ามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นไป” ...นพ.ทวีศิลป์ ระบุ


ทั้งหมดทั้งมวลก็มิได้หมายถึงกรณี “หมอประกิตเผ่า”

เป็นแต่เพียงพลิกปูม-ชี้จุดเสี่ยง...คนที่เป็น “อัจฉริยะ”

อัจฉริยะ “เสี่ยงเป็นบ้า” นี่เป็นเรื่องจริง !?!?!?!. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น