THE NATURAL OF REVENGE: คอมพิวเตอร์ยืนยันโลกต่างดาวมีจริง ?

วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2554

คอมพิวเตอร์ยืนยันโลกต่างดาวมีจริง ?


คอมพิวเตอร์ยืนยันโลกต่างดาวมีจริง ?




แบบจำลองคอมพิวเตอร์ยืนยันว่าในเอกภพยังมีระบบสุริยะอื่นที่มีดาวเคราะห์คล้ายโลกอยู่แน่นอน เพียงแต่เทคโนโลยีกล้องโทรทรรศน์อวกาศยังไม่ก้าวไกลพอที่จะส่องพบ
ปัจจุบันนักดาราศาสตร์ได้สำรวจพบแล้วว่ามีระบบสุริยะอื่นอยู่อย่างน้อย 130 ระบบ ซึ่งคล้ายกับระบบสุริยะที่มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของโลกและดาวเคราะห์บริวาร ระบบสุริยะเหล่านั้นมีดาวเคราะห์โคจรรอบเช่นกัน ดาวเคราะห์พวกนี้มีขนาดใหญ่ และโดยมากจะมีขนาดราวครึ่งหนึ่งของดาวพฤหัสบดี
ส่วนดาวเคราะห์ที่มีขนาดเท่ากับโลกนั้น ถ้ามีอยู่จริง ก็คงจะไม่สามารถสำรวจพบเนื่องจากเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่ก้าวหน้าพอที่จะตรวจเจอ ขณะที่แบบจำลองคอมพิวเตอร์จากสถาบันศึกษาด้านดาราศาสตร์หลายสำนักยืนยันว่ามีดาวเคราะห์ที่มีลักษณะเป็นชั้นหินและมีขนาดพอๆ กับโลกอยู่ในระบบสุริยะสักแห่งที่มีดาวเคราะห์ขนาดยักษ์หมุนโคจรรอบดาวฤกษ์ที่เหมือนกับดวงอาทิตย์
ในการศึกษาล่าสุด นักวิจัยได้ตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับดาวเคราะห์ขนาดยักษ์ขึ้นมา และพบว่าดาวเคราะห์ยักษ์แต่ละดวงต่างสร้าง "เขตหายนะ" ขึ้นมาสองเขต เขตหนึ่งเป็นบริเวณวงโคจรชั้นใน (อยู่ใกล้กับดาวฤกษ์) ส่วนอีกเขตหนึ่งอยู่วงโคจรชั้นนอก ดาวเคราะห์ที่มีลักษณะคล้ายโลกกำลังก่อตัวอยู่ทั้งเขตแดนด้านในและด้านนอกวงโคจรของเคราะห์ยักษ์ ซึ่งจะถูกแรงดึงดูดให้โคจรเข้าไปชนกับดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่กว่า และชนกับดาวฤกษ์ในที่สุด หรือไม่ก็ถูกเหวี่ยงออกไปอยู่ปลายขอบระบบสุริยจักรวาลที่หนาวเย็น
สมมติฐานดังกล่าวฟังดูไม่แปลก แต่แบบจำลองคอมพิวเตอร์ที่สร้างขึ้นมานี้ มีหลายจุดที่น่าสนใจ จุดที่ว่าก็คือ เขตหายนะทั้งสองเขตจะถูกควบคุมโดยมวลของดาวเคราะห์ยักษ์ ซึ่งมีวงโคจรที่ไม่กลมเสียทีเดียวนัก "ยิ่งวงโคจรของมันเบี้ยวมากเท่าไร ดาวเคราะห์ยักษ์ก็จะมีแรงดึงดูดมากเท่านั้น" แบร์รี โจนส์ ปรมาจารย์ด้านดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเปิดในอังกฤษให้ความเห็น
ค้นหาโลกที่มีน้ำ
คำถามก็คือ ระบบสุริยะแบบไหนกันที่มีดาวเคราะห์ขนาดใหญ่และสามารถช่วยให้ดาวเคราะห์หินดำรงอยู่ในเขตแดนที่มีอุณหภูมิเหมาะสมที่จะเกิดแหล่งน้ำบนดาวเคราะห์ที่มีขนาดใกล้เคียงกับโลก "ถ้าดาวเคราะห์นั้นมีน้ำอยู่จริง ก็น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่อย่างที่เรารู้กัน" โจนส์ กล่าว
กระนั้น นักวิทยาศาสตร์บางรายไม่เห็นด้วยกับสมมติฐานที่ว่า ที่ใดมีน้ำที่นั้นต้องมีชีวิต ไม่มีใครรู้จริงๆ ว่าชีวิตเกิดขึ้นมาได้อย่างไร หรือว่าชีวิตเริ่มต้นเกิดที่จุดไหนของโลก แต่ดาวเคราะห์ที่มีน้ำและมีโครงสร้างเป็นหินก็ถือเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดที่จะทำให้เกิดกิจกรรมของสิ่งมีชีวิต
แบบจำลองคอมพิวเตอร์แสดงให้เห็นว่า หากจะให้ดาวเคราะห์ที่มีขนาดเท่าโลกมีวงโคจรที่คงที่อยู่ในเขตแดนที่อยู่ใต้อิทธิพลของดาวเคราะห์ยักษ์นั้น ดาวยักษ์จำเป็นต้องอยู่ห่างจากเขตหายนะชั้นนอกพอสมควร เหมือนกับดาวพฤหัสบดีและดาวเคราะห์อื่นๆ ในระบบสุริยะที่เราอาศัยอยู่ หรืออีกแบบหนึ่งคือ ดาวเคราะห์ยักษ์ต้องอยู่ห่างจากเขตหายนะชั้นใน
ยิ่งดาวเคราะห์ยักษ์มีขนาดใหญ่แค่ไหน มันจะยิ่งมีแรงดึงดูดที่ก่อกวนวงโคจรของโลกมากขึ้น มันจึงจำเป็นต้องอยู่ห่างจากเขตที่โลกโคจรอยู่ปลอดภัยมากเท่านั้น "คุณไม่สามารถเข้าใกล้ดาวเคราะห์ยักษ์ได้ ไม่อย่างนั้นแรงดึงดูดของมันจะสร้างความปั่นป่วนให้กับวงโคจรของโลกได้" โจนส์อธิบาย ตรงนี้เองที่ทำให้แบบจำลองนี้น่าสนใจขึ้นมา
บทพิสูจน์
ต่อมานักวิทยาศาสตร์ได้ประยุกต์เอากฎเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้กับระบบสุริยจักรวาลของจริง ซึ่งพบว่าระบบสุริยะอื่นที่พบแล้ว มี ดาวเคราะห์ยักษ์ขนาดดาวพฤหัสบดีโคจรอยู่ใกล้ดาวฤกษ์ แต่หนึ่งรอบโคจรใช้เวลาน้อยกว่าหนึ่งอาทิตย์ด้วยซ้ำ
ส่วนเขตหายนะที่คอมพิวเตอร์สร้างขึ้นมา ได้ถูกนำมาเปรียบเทียบกับเขตที่เหมาะจะอยู่อาศัยของดาวฤกษ์ เพื่อดูว่ามีบริเวณไหนที่พอจะเป็นตำแหน่งปลอดภัยสำหรับดาวเคราะห์เหมือนโลกสักดวงที่จะโคจรอย่างคงที่
และเมื่อสั่งให้เครื่องคอมพิวเตอร์คำนวณ พบว่ามีระบบสุริยะราวครึ่งหนึ่งที่มีเขตปลอดภัยอยู่เป็นระยะเวลานานพอที่จะเอื้อให้เกิดสิ่งมีชีวิตขึ้นมาได้
มีระบบสุริยจักรวาลอยู่สองสามระบบที่เคยมีเขตปลอดภัยอยู่ในอดีต หรือจะมีในอนาคต เนื่องจากอายุของดาวฤกษ์และพลังงานของดาวที่ปล่อยออกมาเปลี่ยนแปลงไป เมื่อคำนวณดูแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้คือมีระบบสุริยะอยู่ 2 ใน 3 จาก 130 ระบบที่พวกเขาศึกษาเคยมีเขตปลอดภัยอยู่ และบางแห่งยังมีอยู่ ขณะที่บางแห่งจะมีในอนาคต
อย่างไรก็ดี นักวิจัยไม่คิดว่าจะสำรวจพบดาวโลกดวงใหม่จนกว่าจะมีกล้องโทรทรรศน์อวกาศรุ่นใหม่ ถูกส่งออกไปถ่ายภาพอวกาศภายในทศวรรษนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น